วิจัยกรุงศรีชี้เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ได้แรงหนุนจากภาคส่งออกที่เติบโตดี ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศชะลอลงเล็กน้อย โดยมูลค่าการส่งออกกลับมาเติบโตในอัตราเลขสองหลัก (+16% YoY) ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม จากการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง (+2.3% จาก 5.0%) เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง (+4.3% จาก 7.8%) ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้าทุนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาคก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว
แม้ในช่วงต้นปีเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แต่ในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยลบทั้งจากสถานการณ์จำนวน ผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนในไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจกดดันความเชื่อมั่นและกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยภายนอกจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนและอาจยืดเยื้อในไตรมาส 2 กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป จึงอาจส่งผลต่อ (i) การค้าระหว่างประเทศจากความต้องการสินค้าและบริการชะลอลง ปัญหาหรืออุปสรรคในการขนส่ง รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย (ii) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น กระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชนบั่นทอนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เล็กน้อย แต่ปรับเพิ่มเงินเฟ้อสูงเหนือกรอบเป้าหมาย วิจัยกรุงศรีคาดดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 0.50% ตลอดทั้งปี การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ล่าสุดกนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2565 เติบโต 3.2% จากเดิมคาด 3.4% เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปีนี้ กนง.ได้ปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 4.9% จากเดิมคาด 1.7% ผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นสำคัญ แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมาย (1-3%) วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ว่ากนง.จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปี เนื่องจาก (i) อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว (ii) การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่วนใหญ่กระจุกตัวในหมวดพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลักซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นชั่วคราว (iii) อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่กนง.ระบุว่า “แม้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 2565 แต่จะทยอยปรับลดลงและจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงต้นปี 2566” และ (iv) ถ้อยแถลงของกนง.ระบุว่า “ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ” โดยจากประมาณการ GDP ล่าสุดของธปท.ที่ 3.2% ประเมินว่าระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิดการระบาด Covid-19 ได้อาจเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy